Hotline 083-411-9393
Wednesday , 9 April 2025
Home Lifestyle แอร์บัสคาดการณ์ว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีความต้องการเครื่องบินใหม่จำนวน 19,500 ลำ ภายในปี 2586
Lifestyle

แอร์บัสคาดการณ์ว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีความต้องการเครื่องบินใหม่จำนวน 19,500 ลำ ภายในปี 2586

แอร์บัสได้เผยแพร่การคาดการณ์ตลาดระดับภูมิภาคครั้งล่าสุด โดยประเมินว่าภาคการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีความต้องการเครื่องบินใหม่จำนวน 19,500 ลำในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งคิดเป็น 46 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการเครื่องบินทั่วโลก โดยคาดว่าความต้องการเครื่องบินใหม่ทั้งหมดทั่วโลกจะมีประมาณ 42,430 ลำ ภายในปี 2586

นายอานันท์ สแตนลีย์ (Anand Stanley) ประธานแอร์บัสประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้เปิดเผยข้อมูลและการคาดการณ์ดังกล่าวระหว่างการประชุมประจำปีของประธานสมาคมสายการบินภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Association of Asia-Pacific Airlines: AAPA) ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศบรูไน โดยได้เน้นย้ำถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และความสำคัญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในตลาดการบินโลก

การคาดการณ์สำหรับตลาดการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งรวมถึงประเทศจีนและอินเดียนี้ ได้แสดงให้เห็นว่าความต้องการเครื่องบินใหม่จะเติบโต 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และจะทำให้ฝูงบินในภูมิภาคขยายตัวเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงขับเคลื่อนทั้งจากการเติบโตของตลาดการบินและความต้องการเครื่องบินใหม่มาทดแทนเครื่องเดิม เนื่องจากประเด็นด้านความยั่งยืนได้มีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้น

แอร์บัสคาดการณ์ว่าตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีความต้องการเครื่องบินประเภททางเดินเดียวจำนวน 16,000 ลำ เช่น เครื่องบินในตระกูล เอ220 (A220) และ เอ320นีโอ (A320neo) เพื่อรองรับเส้นทางการบินระยะสั้นถึงระยะกลางในภูมิภาค นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าความต้องการเครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลางและขนาดใหญ่ เช่น เอ330นีโอ (A330neo) และ เอ350 (A350) จะมีประมาณ 3,500 ลำ โดยมีการสั่งซื้อเครื่องบินลำตัวกว้างครั้งสำคัญเกิดขึ้นในภูมิภาคเมื่อไม่นานมานี้ ได้แก่ คำสั่งซื้อเครื่องบินรุ่น A330neo จากสายการบินคาเธย์แปซิฟิค (Cathey Pacific) และการสั่งซื้อเครื่องบิน A350 โดย อีวีเอแอร์ (EVA Air) เจแปนแอร์ไลน์ (Japan Airlines) และ โคเรียนแอร์ (Korean Air) โดยคาดว่ายังมีคำสั่งซื้อที่อยู่ระหว่างการดำเนินการจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยผลักดันการเติบโตในภูมิภาคต่อไป

แอร์บัสประเมินว่าความต้องการในภูมิภาคประมาณ 71 เปอร์เซ็นต์จะมาจากการส่งมอบเครื่องบินใหม่เพื่อสนับสนุนการขยายฝูงบินให้เติบโต ในขณะที่อีก 29 เปอร์เซ็นต์จะมาจากการเปลี่ยนเพื่อทดแทนเครื่องบินรุ่นเก่า ซึ่งช่วยส่งเสริมความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเครื่องบินลำตัวกว้างรุ่นล่าสุดของแอร์บัสนั้นสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ในทันที และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ความก้าวหน้าเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของแอร์บัสในการสนับสนุนเป้าหมายของอุตสาหกรรมการบินในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ในด้านของภาคการขนส่งสินค้า แอร์บัสคาดว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีความต้องการเครื่องบินขนส่งสินค้าประเภทลำตัวกว้างลำใหม่จำนวน 250 ลำ ซึ่งคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการเครื่องบินขนส่งสินค้าใหม่ทั้งหมดทั่วโลก โดยเครื่องบินรุ่น เอ350เอฟ (A350F) ที่พัฒนาขึ้นจากแพลตฟอร์มของรุ่น A350 ที่ผ่านการพิสูจน์และได้รับความเชื่อมั่นนั้นมีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งสำหรับการตอบสนองต่อความต้องการในส่วนนี้ ด้วยประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยม การปล่อย CO2 ที่ลดลง และความคุ้มค่าที่เป็นเสิศ นอกจากนี้เครื่องบิน A350F ยังมีประสิทธิภาพที่ตรงตามมาตรฐานการปล่อยมลพิษขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ที่ประกาศล่าสุด ทำให้ A350F เป็นตัวเลือกชั้นนำในตลาดเครื่องบินขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ หนึ่งในการยืนยันถึงประสิทธิภาพและความเชื่อมั่นสำหรับ A350F ในภูมิภาคนี้ ได้แก่การที่สายการบินสตาร์ลักซ์ (STARLUX) ได้สั่งซื้อ A350F จำนวน 5 ลำในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

สำหรับตลาดการขนส่งผู้โดยสาร แอร์บัสคาดว่าปริมาณผู้โดยสารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเติบโตในอัตรา 4.8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตทั่วโลกที่ 3.6 เปอร์เซ็นต์ โดยเครื่องบินประเภทลำตัวกว้างจะมีบทบาทสำคัญในการขยายตัวของตลาดที่จะเกิดขึ้น เพราะสามารถเพิ่มการเชื่อมโยงในเส้นทางการบินของผู้โดยสารและตอบสนองความต้องการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคด้วยเช่นกัน การค้าแบบอีคอมเมิร์ซและการค้าในระดับโลกจะผลักดันให้เกิดความต้องการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ  เครื่องบินลำตัวกว้างจึงมีความสำคัญต่อการส่งมอบสินค้าที่รวดเร็วและเชื่อถือได้ระหว่างทวีป

เครื่องบินรุ่น A350 นั้นถือเป็นผู้นำในตลาดการเดินทางระยะไกล โดยปัจจุบันมี A350 จำนวนเกือบ 300 ลำที่ให้บริการอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และได้มีการสั่งซื้ออีกจำนวน 230 ลำ ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงที่ล้ำสมัย  ประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงที่ยอดเยี่ยม และต้นทุนการดำเนินงานที่คุ้มค่า ทำให้ A350  เป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมจากสายการบินทั่วทั้งภูมิภาค

ขณะเดียวกันกระบวนการเปลี่ยนเครื่องบินเพื่อทดแทนรุ่น เอ330ซีโอ (A330ceo) นั้นก็ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีเครื่องบิน A330ceo ประมาณ 540 ลำให้บริการอยู่ในภูมิภาค ซึ่งรุ่น A330neo นั้นถือเป็นตัวเลือกเพื่อการเปลี่ยนทดแทนที่เหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากรูปแบบการฝึกอบรมนักบินและการปฏิบัติงานทางเทคนิคที่สอดคล้องและคล้ายคลึงกันระหว่างทั้งสองรุ่น จะช่วยให้สายการบินมีกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่น

นายอานันท์ สแตนลีย์ ประธานแอร์บัสประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “ในฐานะหนึ่งในภูมิภาคที่มีตลาดการบินเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก  ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นมีความพร้อมที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในอีกสองทศวรรษข้างหน้า ด้วยความต้องการทั้งในด้านการบริการผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าทางอากาศที่เพิ่มมากขึ้น เราพร้อมที่จะสนับสนุนพันธมิตรสายการบินของเราให้บรรลุเป้าหมายระยะยาว ด้วยเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน และมีความทันสมัยมากที่สุด พร้อมทั้งร่วมสนับสนุนความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วทั้งอุตสาหกรรมการบิน”

Recent Posts

Categories

Related Articles

CIBA DPU จับมือ ออมสิน เปิดโครงการ ‘ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น 2568’ ปีที่ 7 หนุนนักศึกษาลงพื้นที่ นนทบุรี-นครปฐม พลิกโฉมผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจฐานราก

วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมกับ ธนาคารออมสิน เปิดตัว “โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น 2568” โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษานำความรู้ภาคทฤษฎีสู่การปฏิบัติจริง ผ่านการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชนอย่างยั่งยืน...

เครือข่ายต่อต้านความรุนแรงฯ เข้าชื่อผู้ริเริ่มเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวภาคประชาชน ชี้กฎหมายต้องเอาผิดผู้กระทำจริงจัง หยุดลอยนวล และคุ้มครองเยียวยาผู้เสียหายรอบด้าน จึงจะหยุดความรุนแรงในครอบครัวได้ เตรียมล่า 20,000 รายชื่อหนุน

สมาชิกเครือข่ายต่อต้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศประเทศไทย ประกอบด้วยองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ จำนวน 10 องค์กร เข้ายื่นเรื่องริเริ่มเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ฉบับภาคประชาชนต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีผู้แทนจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนพรรคเพื่อไทยในฐานะฝ่ายรัฐบาล พรรคประชาชนในฐานะพรรคฝ่ายค้าน และนางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์...

เครือข่ายภาคประชาสังคม 100 องค์กร บุกรัฐสภา เรียกร้องรัฐสภา ฝ่ายค้าน ยับยั้งกฎหมายกาสิโน

นายธนากร  คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน พร้อมด้วย ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคม 100 องค์กร ยื่นหนังสือถึง ประธานรัฐสภาและผู้นำฝ่ายค้าน เพื่อคัดค้านการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ที่รัฐสภา กรุงเทพฯ...

เปิดผลศึกษาชุมชน พบวัยรุ่นสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพียบ ถึงร้อยละ 38 เกินครึ่งรู้แหล่งซื้อในชุมชน ด้านหนุ่มไรเดอร์ เปิดใจ เคยเอาควันบุหรี่ไฟฟ้าไปทำร้ายคนที่บ้านช่วงสงกรานต์ เพราะคิดว่ามันไม่อันตราย สูบบุหรี่ไฟฟ้ามา 3 ปี เกือบเอาชีวิตไม่รอด ติดเชื้อในกระแสเลือด วอนหยุดเลิกสูบก่อนสายเกินไป “ดร.ลักขณา” ห่วงเด็กหญิงไทยสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น 8 เท่า เลิกยาก เสี่ยงตอนตั้งท้องทารกตายในครรภ์ พร้อมเผยสารอันตรายเพียบ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ครอบครัวปลอดบุหรี่ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) เครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยง มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กลุ่มไม้ขีดไฟ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ “บุหรี่ไฟฟ้ามันร้าย” พร้อมเสวนา...