เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 ที่เอบีน่าเฮ้าส์ กรุงเทพฯ มูลนิธิพลังสังคม เครือข่ายองค์กรงดเหล้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนาเฉลิมฉลองปีใหม่ Party NO L สนุกได้ไร้แอลกอฮอล์ ทางเลือกมากมายเพื่อลดผลกระทบทางสังคม โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ของการจัดงานปีใหม่ที่สร้างสรรค์และปลอดภัย
นายพิทยา จินาวัฒน์ คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า เทศกาลปีใหม่คือช่วงเวลาสำคัญที่อุบัติเหตุทางถนนพุ่งสูงขึ้นอย่างน่ากังวล ปีใหม่ 2567 ที่ผ่านมามียอดรวมผู้เสียชีวิต 284ราย บาดเจ็บ 2,307 คน เกิดอุบัติเหตุ 2,288 ครั้ง แม้ตัวเลขจะลดลงจากปีก่อนหน้า แต่เมื่อติดตามต่อในรายที่ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล พบยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดกลายเป็น 486 ราย ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก โดยผู้ประสบอุบัติเหตุเป็นเด็กเยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี มากถึงร้อยละ 23.86 โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 86.31 เกิดกับรถจักรยานยนต์ และมีสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุมาจากการดื่มแล้วขับร้อยละ 23.16 กิจกรรมรณรงค์อย่าง Party No-L จึงเป็นอีกก้าวสำคัญในการส่งเสริมวัฒนธรรมการเฉลิมฉลองอย่างปลอดภัยและลดผลกระทบทางสังคม ป้องกันไม่ให้เกิดเหยื่อจากการเมาแล้วขับ การดำเนินงานของ สสส. และภาคีหลายเรื่องได้เปลี่ยนพฤติกรรมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะให้เหล้าเท่ากับแช่ง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมการให้ของขวัญช่วงเทศกาลต่างๆ กิจกรรมการส่งเสริม Party No L นี้เป็นอีกความห่วงใยที่จะช่วยลดการดื่ม และลดอุบัติเหตุทางถนนที่จะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาล
นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม ระบุว่า มีตัวอย่างของการดำเนินงานจากหลายภาคส่วนที่สร้างทางเลือกในการลดผลกระทบจากการดื่ม ไม่ว่าจะเป็นการสวดมนต์ข้ามปี การเฉลิมฉลองด้วยกิจกรรมด้านประเพณีท้องถิ่นและกิจกรรมของกลุ่มชาติพันธ์ การจัดงาน PartyNO L สนุกได้ไร้แอลกอฮอล์ เป็นการส่งสัญญาณหาทางออกจากความทุกข์คือการเจ็บตายความสูญเสียที่รออยู่ข้างหน้า การจัดงานควรหลีกเลี่ยงจากความเสี่ยงต่างๆ งานคอนเสิร์ตและเคาท์ดาวน์ควรดูแลเรื่องจำนวนคนที่เข้าร่วมและการระบายคนในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินกรณีมีผู้คนมาร่วมงานหนาแน่น ตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นมีการดูแลบริหารจัดการอย่างดีและมีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีถึงกับมีคำสั่งยกเลิกการจัดงานเคาท์ดาวน์ในพื้นที่ชิบูย่าเมืองโตเกียวและควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาดเนื่องจากคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนที่เข้ามาร่วมกิจกรรม นอกจากนี้การที่ประเทศไทยมีผู้ใช้มอเตอร์ไซด์มากเป็นอันดับหนึ่งของโลกการแก้ไขอุบัติเหตุความสูญเสียจากการเดินทางในระยะยาวต้องกระจายอำนาจและสร้างระบบขนส่งสาธารณะที่ดีมารองรับ แต่สิ่งที่ทำได้ทันทีในปัจจุบันคือการลดเหตุที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงลดโอกาสในการดื่มหรือร่วมกันดูแลหลังการดื่ม ดังนั้นภาคส่วนต่างๆ ทั้งวัด ท้องถิ่น ชุมชนและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกันและคำนึงถึงความต้องการความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ
นายธีรภัทร์ กุลพิศาล เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กล่าวว่า ตนเคยประสบอุบัติเหตุในช่วงปีใหม่เมื่อปี 2544 จนทำให้ต้องกลายเป็นผู้พิการ อยากเรียกร้องให้มีการปรับปรุงกฎหมายดื่มแล้วขับให้มีโทษหนักขึ้นเพราะจะทำให้คนไม่กล้าไปดื่มแล้วขับเพื่อป้องกันเหตุสลดในอนาคต และเสนอว่าผู้บังคับใช้กฎหมายควรเข้มงวดทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา
คุณสิริกุล วงษ์สิริโสภาคย์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จำนวนครั้งและจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลมีแนวโน้มลดลง สาเหตุหลักของอุบัติเหตุคือขับรถเร็วตามมาด้วยเมาแล้วขับ รถมอเตอร์ไซด์เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดซึ่งมากกว่าครึ่งล้มเองโดยไม่มีคู่กรณี เมื่อสืบสาเหตุที่ล้มจะพบว่าเกิดจากการเมา ปีนี้เปลี่ยนการรณรงค์จาก 7 วันอันตราย เป็น 10 วันอันตราย คือ ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 ถึง 5 มกราคม 2558 เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่คนจะลางานวันศุกร์ที่ 3 มกราคม เพื่อให้มีวันหยุดต่อในวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 4-5 มกราคม 2567 อุบัติเหตุในช่วงปีใหม่จะเกิดในถนนสายรอง การตั้งด่านชุมชนและด่านครอบครัว จะเป็นการป้องกันไม่ให้คนรอบตัวที่เมาแล้วไปขับรถ
พระครูภัทรธรรมคุณ มูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม กล่าวว่า ความสำคัญของพลัง “บวร” บ้าน วัด ราชการต้องร่วมมือกันจัดกิจกรรมช่วงปีใหม่โดยไม่มีแอลกอฮอล์ พร้อมยกตัวอย่างวัดที่จัดสวดมนต์ข้ามปี ซึ่งมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 โดยมีการสวดมนต์ตั้งแต่ 2 ทุ่มถึงเที่ยงคืน จนประสบความสำเร็จในการลดการดื่มในชุมชน
นายกิตติมาศักดิ์ สีเดือน เครือข่ายเครือไตชาติพันธุ์ กล่าวว่า ได้ร่วมกันจัดงานปีใหม่ชาติพันธุ์แบบปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันที่ 1-2 มกราคม ณ วัดไทยวัฒนาราม อ.แม่สอด จ.ตาก โดยเป็นการจัดงานร่วมกันของ 8 ชาติพันธุ์ โดยได้ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมในงานปีใหม่ด้วย
คุณเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ร่วมกันคิดและตั้งคำถามกันว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่ร่ำรวยวัฒนธรรมอย่างมาก เหตุใดงานปีใหม่คนจึงคิดถึงแต่งานคอนเสิร์ต จึงคิดที่จะจัดตีกลองฉลองปีใหม่ และจุดพลุคนเมือง ซึ่งในปีนี้จะมีการจัดงานที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ โดยใช้กลองพื้นบ้านของจังหวัดเชียงใหม่รวม 8 ชนิด ในชื่อ จุมก๋องล้านนา อัฐถมังคละเภรีเบิกวิถีปีใหม่ไทย ๒๕๖๘ เราเชื่อว่าแต่ละพื้นที่มีจุดเด่นด้านวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งภาครัฐควรส่งเสริมเพื่อให้เกิดการจัดงานปีใหม่บนพื้นที่ทางเลือกหรือพื้นที่สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม
นางสาวพรทิพย์ พิมพ์โสภา กลุ่มเด็กอุบล กล่าวว่า ทำอย่างไรให้เด็กได้ทำกิจกรรมอย่างปลอดภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติด โดยเด็กเยาวชนจะมีส่วนร่วมในการเสนอกิจกรรมที่อยากทำ และจะเวียนไปตามประเด็นความสนใจของผู้เข้าร่วม การใช้กิจกรรมและการส่งเสริมพื้นที่สร้างสรรค์ก็เป็นอีกหนึ่งกลวิธีในการปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้แก่เด็กเยาวชน
นายธีรัช จันทร์หอม และ น.ส.อัญญารัตน์ โกติรัมย์ ชมรมคนหัวใจเพชร กล่าวว่า แต่เดิมตนสองคนทำงานในโรงงาน จะดื่มและสังสรรค์กันทุกวัน วันที่เกิดอุบัติเหตุไปดื่มห่างจากบ้านประมาณ 30 กิโลเมตรดื่มถึงตีหนึ่งแล้วหลับในทำให้เกิดอุบัติเหตุ ต้องนอนรักษาตัว 1 เดือนและกลับมาอยู่บ้านที่บ้านป่าเลน จังหวัดพัทลุง ซึ่งในชุมชนมีการรณรงค์เป็นชุมชนคนสู้เหล้า ได้ร่วมกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ได้อบรมเครื่องดื่มSoBrink รู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้น ทำให้มีเงินเหลือโดยตั้งเป้าว่าจะเก็บเงินที่ประหยัดได้จากที่เคยซื้อเหล้าเบียร์เพื่อไว้ไปท่องเที่ยว
Miss Lea Segatto อาสาสมัครมูลนิธิทองทศ จากประเทศอิตาลี กล่าวว่า รู้สึกประทับใจวัฒนธรรมและคนไทย เช่น คนไทยยิ้มง่าย ตอนมาเที่ยวครั้งแรกตั้งใจมาเที่ยวตรอกข้าวสาร แต่เมื่ออยู่เมืองไทยนานๆ ชอบเที่ยวด้านวัฒนธรรมมากกว่า เช่น เที่ยววัดวาอาราม และวัฒนธรรมท้องถิ่น สภาพแวดล้อมที่สวยงาม โดยได้ยกตัวอย่างว่าที่ประเทศอิตาลีผู้ขายเหล้าจะพิจารณาว่าผู้ซื้อมึนเมาหรือไม่ หากเมาแล้วจะไม่ขายต่อ เพราะถ้าขายต่อจะเป็นการไม่รับผิดชอบต่อสังคม ในมุมมองของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทยส่วนใหญ่ต้องการมาเรียนรู้สัมผัสประสบการณ์ด้านวัฒนธรรมมากกว่าการตั้งใจมาปาร์ตี้มากินดื่ม