Hotline 083-411-9393
Friday , 4 April 2025
Home Lifestyle CADT DPU เผย บทสรุปเวทีสัมมนา “เส้นทางสู่ความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการบินของไทย” ความร่วมมือจาก 4 ภาคส่วนคือกุญแจสู่ Net Zero
Lifestyle

CADT DPU เผย บทสรุปเวทีสัมมนา “เส้นทางสู่ความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการบินของไทย” ความร่วมมือจาก 4 ภาคส่วนคือกุญแจสู่ Net Zero

วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมกับชมรมสถาบันการศึกษาและบุคลากรด้านการบินประเทศไทย (ชสบ.) จัดโครงการสัมมนาและเสวนาเรื่อง “SDGs in Thailand Aviation Industry Forum : เส้นทางสู่ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการบินของไทย” โดยมี ผศ.ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ภายในงานมีผู้แทนจากองค์กรในอุตสาหกรรมการบินมาร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โอกาสและความท้าทายในอนาคต  ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

อาจารย์ปวรรัตน์ สุภิมารส รักษาการคณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ได้กล่าวรายงานสถานการณ์ในอุตสาหกรรมการบินว่า อุตสาหกรรมการบินเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว แต่ในขณะเดียวกันก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่อาจมองข้าม ปัจจุบันองค์กรการบินระหว่างประเทศ ทั้ง องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) และ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association:IATA ) ได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ส่งผลให้สายการบินทั่วโลกรวมถึงสายการบินไทยต้องปรับตัวและหามาตรการรองรับ ดังนั้น เป้าหมายของการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ SDGs และร่วมกันพัฒนาให้เติบโตควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

ความท้าทายของอุตสาหกรรมการบินสู่เป้าหมาย Net Zero

อาจารย์ยงยุทธ ลุจินตานนท์ ผู้จัดการภูมิภาคประจำประเทศไทย ลาว และเมียนมาร์ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เปิดเผยว่า IATA กำลังเตรียมรับมือกับความท้าทายในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของภาคการบินภายในปี 2050 โดยมีบทบาทสำคัญ 3 ประการ คือ 1.) การสร้างความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมการบิน ผู้ผลิต และภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย Net Zero ผ่านโปรแกรมต่างๆ ที่มี Road Map ชัดเจน 2.) การให้ความรู้แก่ผู้โดยสาร สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) และความสำคัญของการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมการบิน และ 3.) การสนับสนุนเทคโนโลยี โดย IATA ได้พัฒนาระบบและเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น One ID ที่ใช้เทคโนโลยี Biometric เพื่อยืนยันตัวตนและระบบ ONE Record สำหรับขนส่งสินค้า ซึ่งช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในกระบวนการให้บริการ โดยตัวอย่างโครงการสำคัญที่เป็นรูปธรรมของ IATA มีดังต่อไปนี้

SAF: ไทยเริ่มทดลองใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำในหลายสายการบิน โดย IATA สนับสนุนอุตสาหกรรมการบินไทยให้ยั่งยืนผ่านการทดลองบินด้วยน้ำมัน SAF เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ปัจจุบันได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตเชื้อเพลิงชั้นนำที่เริ่มผลิตและจำหน่าย SAF ตามแนวโน้มการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ONE Record: ยกระดับการขนส่งสินค้าทางอากาศด้วยดิจิทัล โดย Cathay Pacific Cargo ร่วมขับเคลื่อนมาตรฐานซัพพลายเชนสู่ระบบดิจิทัลในโครงการนำร่องของ IATA เพื่อบูรณาการข้อมูลชิปเมนท์บนแพลตฟอร์มเดียว เพิ่มความโปร่งใส ประสิทธิภาพ และลดการใช้กระดาษ มีเป้าหมายให้ใช้งานร่วมกันได้ภายใน 1 มกราคม 2026

One ID: อนาคตของการเดินทางด้วยเทคโนโลยี Biometric ที่ IATA สนับสนุนให้สนามบินและสายการบินใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อลดความยุ่งยากของเอกสาร ผู้โดยสารสามารถยืนยันอัตลักษณ์ล่วงหน้าและเดินผ่านทุกด่านโดยไม่ต้องแสดงเอกสาร ช่วยให้การระบายคิวผู้โดยสารคล่องตัวขึ้น

ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

การบรรลุเป้าหมาย Net Zero ไม่ใช่หน้าที่ของอุตสาหกรรมการบินหรือผู้ผลิตเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนดังนี้

ผู้โดยสาร : ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการตระหนักถึงผลกระทบของการเดินทางต่อสิ่งแวดล้อม และยอมรับความเป็นไปได้ที่ราคาตั๋วเครื่องบินอาจสูงขึ้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้าน Net Zero

สายการบิน : ต้องโปร่งใสในการบริหารจัดการรายได้เพิ่มเติมจากผู้โดยสาร เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาด้านความยั่งยืนอย่างแท้จริง

ผู้ประกอบการ : ต้องเร่งพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดการปล่อยคาร์บอน และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ภาครัฐ: มีบทบาทสำคัญในการออกนโยบายสนับสนุนที่ชัดเจนและรวดเร็ว โดย IATA เสนอให้มี Single Command รวบรวมคณะกรรมการจากหลายหน่วยงานภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านความยั่งยืนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม IATA มีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับภาครัฐในหลายประเทศ ซึ่งสามารถนำมาเป็นแนวทางและตัวอย่างเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในประเทศไทย

อนาคตของอุตสาหกรรมการบินในเอเชียแปซิฟิก

คาดการณ์ว่าระหว่างปี 2023-2043 การเติบโตของสายการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะอยู่ที่ 5.1% โดยจะมีผู้โดยสารเดินทางมาใช้บริการมากถึง 2,609 ล้านราย ถือเป็นภูมิภาคที่มีผู้โดยสารเดินทางมากที่สุดในโลก เพื่อรองรับการเติบโตนี้อย่างยั่งยืน IATA เสนอ 5 กุญแจสำคัญที่ต้องดำเนินการเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจการบิน ได้แก่ 1.Capacity: การเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 2.Safety, Security & Operations: การรักษามาตรฐานความปลอดภัยและการดำเนินงาน 3.Sustainability: การพัฒนาอย่างยั่งยืน 4.Advocacy: การสนับสนุนและผลักดันนโยบายที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม และ5.Digital Transformation: การปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัล

มาตรการลดคาร์บอนและการจัดการขยะในอุตสาหกรรมการบิน

ในช่วงเสวนา หัวข้อ “การบินยั่งยืน : โอกาสและความท้าทายในอนาคต”  ดำเนินรายการโดย นาวาอากาศเอก ดร.วีรชน นรานุต มีผู้แทนจากสายการบินชั้นนำของไทย ประกอบด้วย นายทวิโรจน์ ทรงกำพล ประธานเจ้าหน้าที่สายกลยุทธ์องค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน),นายวินธัส ดาโอะ ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกอำนวยการบิน สายการบิน ไทย แอร์เอเชีย,กัปตันโสภณ พิฆเณศวร Flight Operation Director บริษัท Siam Land Flying นายเกียรติศักดิ์ เทียนศิริยกานนท์ Quality Supervisor สายการบิน ไทย ไลอ้อน แอร์ และนางสาวณิชาภา ถิ่นพังงา ผู้จัดการแผนกบูรณาการความยั่งยืนองค์กร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับมาตรการลดคาร์บอน 4 ด้านหลัก คือ 1.) ปรับปรุงฝูงบินโดยเปลี่ยนเป็นเครื่องบินรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า 2.) ปรับใช้เส้นทางบินตรงเพื่อประหยัดเชื้อเพลิง 3.) ลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ที่ลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 20% และ4.) คัดแยกขยะจากทุกเที่ยวบิน เพื่อบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ พร้อมแปรรูปวัสดุรีไซเคิลเป็นอุปกรณ์สำหรับพนักงาน อาทิ สายคล้องบัตรและเครื่องแบบ รวมถึงการประยุกต์ใช้ระบบดิจิทัลควบคุมปริมาณอาหารบนเครื่องลดการสูญเสียอาหาร

อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายสำคัญ ได้แก่ ข้อจำกัดด้านมาตรฐานการรับรองคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย รวมถึงต้นทุนที่สูงในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะการใช้น้ำมัน SAF และยังมีความจำเป็นในการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิตและดำเนินการด้านความยั่งยืน

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ

1.ผู้แทนจากสายการบินของไทยมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการสนับสนุนการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมการบิน ดังนี้:

2.ภาครัฐควรมีนโยบายเชิงรุกในการส่งเสริมการใช้และผลิต SAF ในประเทศ รวมถึงมาตรการลดภาษีนำเข้า SAF

3.ภาครัฐควรสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมการบิน

4.สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างสนามบินที่รองรับเทคโนโลยีสีเขียว

5.จัดตั้งกองทุนสนับสนุนด้านเงินทุนให้กับอุตสาหกรรมการบิน หรือให้เงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับสายการบินที่ดำเนินการลดคาร์บอน

การสัมมนาครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินของไทยสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ SDGs ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

Recent Posts

Categories

Related Articles

เครือข่ายภาคประชาสังคม 100 องค์กร บุกรัฐสภา เรียกร้องรัฐสภา ฝ่ายค้าน ยับยั้งกฎหมายกาสิโน

นายธนากร  คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน พร้อมด้วย ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคม 100 องค์กร ยื่นหนังสือถึง ประธานรัฐสภาและผู้นำฝ่ายค้าน เพื่อคัดค้านการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ที่รัฐสภา กรุงเทพฯ...

เปิดผลศึกษาชุมชน พบวัยรุ่นสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพียบ ถึงร้อยละ 38 เกินครึ่งรู้แหล่งซื้อในชุมชน ด้านหนุ่มไรเดอร์ เปิดใจ เคยเอาควันบุหรี่ไฟฟ้าไปทำร้ายคนที่บ้านช่วงสงกรานต์ เพราะคิดว่ามันไม่อันตราย สูบบุหรี่ไฟฟ้ามา 3 ปี เกือบเอาชีวิตไม่รอด ติดเชื้อในกระแสเลือด วอนหยุดเลิกสูบก่อนสายเกินไป “ดร.ลักขณา” ห่วงเด็กหญิงไทยสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น 8 เท่า เลิกยาก เสี่ยงตอนตั้งท้องทารกตายในครรภ์ พร้อมเผยสารอันตรายเพียบ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ครอบครัวปลอดบุหรี่ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) เครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยง มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กลุ่มไม้ขีดไฟ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ “บุหรี่ไฟฟ้ามันร้าย” พร้อมเสวนา...

วิทยาลัยนานาชาติ DPU เปิดหลักสูตรใหม่ ‘ภาษาตะวันออกเพื่อธุรกิจ’ ญี่ปุ่น-เกาหลี ตั้งเป้าผลิตบัณฑิตป้อนสู่ตลาดแรงงานระดับนานาชาติ เปิดรับสมัครแล้ววันนี้!!

วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (IC DPU) เดินหน้ายกระดับการศึกษาสู่มาตรฐานสากล ด้วยการเปิดหลักสูตรภาษาตะวันออกเพื่อธุรกิจ ที่มุ่งผลิตบัณฑิตคุณภาพสู่ตลาดแรงงานระดับนานาชาติ ตอบรับความต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้านภาษา ของนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งกำลังขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยและในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic...

คณะการท่องเที่ยวฯ DPU จัดเวทีประชัน “HT MAKEUP GRAND COMPETITION 2025” ปี 2 เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านการแต่งหน้าเสริมบุคลิกภาพให้นักศึกษา

คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดโครงการประกวดการแต่งหน้า “HT MAKEUP GRAND COMPETITION 2025” ครั้งที่ 2 เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านบุคลิกภาพให้นักศึกษา...