Hotline 083-411-9393
Saturday , 5 April 2025
Home Lifestyle “นวัตกรรมธุรกิจดิจิทัล”หลักสูตรแรก!! ปวส. เรียนต่อปริญญาตรี จบได้ภายใน 1 ปี
Lifestyle

“นวัตกรรมธุรกิจดิจิทัล”หลักสูตรแรก!! ปวส. เรียนต่อปริญญาตรี จบได้ภายใน 1 ปี

CIBA DPU จับมือกับภาคธุรกิจ ปรับหลักสูตร นวัตกรรมธุรกิจดิจิทัล เรียนจบได้ภายใน 1 ปี เปิดโอกาสนักเรียนระดับ ปวส. ทุกคณะเทียบโอน ฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการวัดผลเป็นเกรดเฉลี่ย เน้นยืดหยุ่น เรียนจบเร็วพร้อมทำงานทันที

ดร.รชฏ ขำบุญ คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่มีรูปแบบใหม่ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่ง CIBA DPU ได้มีการปรับปรุง พัฒนาการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์และเอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน มีความยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงองค์ความรู้ เพิ่มเติมทักษะ และสามารถทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย

สำหรับ หลักสูตรนวัตกรรมธุรกิจดิจิทัล เป็นหลักสูตรที่ได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการ ผ่านการ MOU ร่วมกัน โดยนักศึกษาจะทำงานไปด้วยระหว่างการเรียน ซึ่งสถานประกอบการจะมอบหมายภาระงานที่สอดคล้องกับรายวิชาที่นักศึกษาลงทะเบียน จากนั้นอาจารย์และพี่เลี้ยงจะร่วมกันสอนงานทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เมื่อนักศึกษาปฏิบัติงานตามระยะเวลาที่กำหนด จะมีการประเมินผลการปฏิบัติงานจากสถานประกอบการและอาจารย์ร่วมกัน ในรูปแบบเกรดและหน่วยกิตเช่นเดียวกับการเรียนที่มหาวิทยาลัย

ดร.รชฏ ขำบุญ คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)

ข้อดีของการเรียนในรูปแบบนี้คือ นักศึกษาสามารถทำงานไปด้วยและเรียนเพื่อได้ดีกรีไปพร้อมกัน นอกจากนั้นทางหลักสูตรได้อำนวยความสะดวกด้วยระบบการเรียนแบบออนไลน์ให้กับนักศึกษาอีกด้วย ซึ่งนักศึกษาสามารถเรียนผ่านระบบออนไซต์และออนไลน์ ที่มีความยืดหยุ่นเรื่องวันเรียนที่ไม่ชนกับวันทำงานได้ อีกทั้ง อาจารย์ยังจะไปเยี่ยมติดตามและให้ความรู้กับนักศึกษาถึงสถานประกอบการด้วย ดังนั้น หลักสูตรนี้จะเน้นการฝึกการทำงานอย่างเข้มข้น พร้อมกับได้วุฒิตามที่นักศึกษาต้องการ ปกติหลักสูตรนี้รับนักศึกษา จบ ปวส. มาเรียนต่อ ปริญญาตรี โดยใช้เวลาเรียน 2 ปี แต่ด้วยการเรียนในรูปแบบนี้ นักศึกษาจะสามารถเรียนจบได้ภายใน 1 ปี โดยยังคงคุณภาพการศึกษาไว้เช่นเดิม

“ก่อนหน้านี้ หลักสูตรดังกล่าวเป็นการเรียนระดับปริญญาตรีใช้เวลาเรียน 2 ปี จากระดับ ปวส. และทางหลักสูตรได้จัดการเรียนการสอนจนสามารถเรียนจบเร็วขึ้นภายในปีครึ่ง แต่ปีนี้จะเป็นปีแรกที่หลักสูตรจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เน้นการบูรณาการการเรียนและการทำงาน ผ่านการ MOU ร่วมกับสถานประกอบการ จนสามารถนำผลการปฏิบัติการมาเป็นเกรด ทั้งนี้ นักเรียนนักศึกษาในระดับปวส. จะคุ้นเคยกับทำงานในระบบทวิภาคีอยู่แล้ว หรือปฏิบัติงานในสถานประกอบการประมาณ 8 ชั่วโมง เหมือนกับพนักงานจริง ๆ ดังนั้น ทางหลักสูตรจึงได้ใช้แนวทางดังกล่าว ผ่านความร่วมมือกับสถานประกอบการ เพื่อทำให้ชั่วโมงการทำงานสามารถเทียบและประเมินได้เป็นหน่วยกิตการศึกษา เอื้อต่อการเรียนรู้ การเพิ่มทักษะ ให้แก่นักเรียนได้ อีกทั้งการเรียนดังกล่าวจะมีการเรียนออนไลน์มาสนับสนุนการเรียนรู้ นักศึกษาสามารถจัดสรรเวลาที่เหมาะสมกับตัวเอง เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย และจบได้เร็วขึ้น” ดร.รชฏ กล่าว

ทั้งนี้ “หลักสูตรนวัตกรรมธุรกิจดิจิทัล” เป็นการเรียนเพื่อให้นักศึกษามีความรู้ทั้งเรื่องธุรกิจ นวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และดิจิทัล การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน โดยหลักสูตรนี้ได้ถูกแบ่งรายวิชาออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1. กลุ่มรายวิชาที่เกี่ยวกับนวัตกรรม เรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมให้ผลิตภัณฑ์ บริการ และเพื่อสร้างมูลค่าให้กับองค์กร 2. กลุ่มรายวิชาเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานทางด้านธุรกิจ และความเป็นผู้ประกอบการ เช่น การตลาด การบัญชี การเงิน และโลจิสติกส์ 3. กลุ่มรายวิชาที่เกี่ยวกับด้านดิจิทัล เช่น เทคโนโลยีดิจิทัลที่ใช้ในการพัฒนาธุรกิจ ได้แก่ การพัฒนาแอพพลิเคชั่น การพัฒนาระบบฐานข้อมูลลูกค้า เป็นต้น นอกเหนือจากนั้น ทางหลักสูตรยังได้นำเครื่องมือและแนวการสอนสมัยใหม่ เพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ เช่น การใช้ Chat GPT, การเล่นเกมจำลองธุรกิจ และการใช้ระบบหลังบ้าน ERP (Enterprise Resource Planning) เพื่อช่วยให้นักศึกษาเข้าใจภาพรวมของธุรกิจได้มากขึ้น เป็นต้น

คณบดี CIBA DPU กล่าวต่อว่า หัวใจหลักของหลักสูตรนวัตกรรมธุรกิจดิจิทัลนี้ คือ การบูรณาการหลักสูตรกับสถานประกอบการมากขึ้น ทำให้หลักสูตรต่างๆ ตอบโจทย์ทั้งผู้เรียน และความต้องการของสถานประกอบการ อีกทั้งรูปแบบการเรียน นักศึกษาสามารถเลือกได้ว่าจะเรียนแบบ ออนไซต์ หรือ ออนไลน์ (e-learning) และเรียนแบบ ธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) หรือ การสะสมหน่วยการเรียนรู้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้นำประสบการณ์การทำงานจากสถานประกอบการชั้นนำที่ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัย วัดผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcomes) ผ่านชุดรายวิชา (Module) โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนมีโอกาสเชื่อมโยงการเรียนรู้กับประสบการณ์การทำงานสามารถพัฒนาตนเองให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

สำหรับการวัดผลลัพธ์การเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ เช่น นักศึกษาทำงานอยู่แผนกจัดซื้อ อาจารย์จะทำการสอนออนไลน์หรือออนไซต์ในด้านทฤษฎีของการจัดซื้อ โดยอาจใช้เวลาในช่วงเย็นเรียนออนไลน์ หรือ วันหยุดมาเรียนที่มหาวิทยาลัย จากนั้น เมื่อปฏิบัติงาน หัวหน้าหรือผู้ดูแลนักศึกษาฝึกงานจะสอนงานเพิ่มในเชิงการปฏิบัติงาน ในการประเมินองค์ความรู้ ทั้งอาจารย์และผู้ประกอบการจะร่วมประเมินจากความรู้และการปฏิบัติงาน และให้เกรดตามระดับผลงานที่เกิดขึ้นจริงในชุดรายวิชาของการจัดซื้อ เป็นต้น ส่วนรายวิชาอื่นนักศึกษาต้องเรียนออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มเพื่อเก็บหน่วยกิตได้ตลอดเวลาตามที่นักศึกษาสะดวกตามกรอบเวลา

อย่างไรก็ตาม หลักสูตร “นวัตกรรมธุรกิจดิจิทัล” เป็นความร่วมมือระหว่าง CIBA DPU กับสถานประกอบการ เพื่อยกระดับทักษะแรงงานให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งด้านธุรกิจและการสร้างสรรค์นวัตกรรม อันนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถให้แก่อุตสาหกรรมและประเทศ รวมถึงเป็นการผลิตบุคลากร แรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ ลดการขาดแคลนแรงงาน และเพิ่มทักษะด้านนวัตกรรมดิจิทัลให้แก่ทรัพยากรบุคคลของประเทศ ผู้สนใจหลักสูตรดังกล่าว สามารถสมัครเรียน ในระดับปริญญาตรี เทียบโอน ปวส. ภาคพิเศษ ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ https://ciba.dpu.ac.th/ หรือ โทร. 02-954-7300

Recent Posts

Categories

Related Articles

CIBA DPU จับมือ ออมสิน เปิดโครงการ ‘ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น 2568’ ปีที่ 7 หนุนนักศึกษาลงพื้นที่ นนทบุรี-นครปฐม พลิกโฉมผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจฐานราก

วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมกับ ธนาคารออมสิน เปิดตัว “โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น 2568” โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษานำความรู้ภาคทฤษฎีสู่การปฏิบัติจริง ผ่านการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชนอย่างยั่งยืน...

เครือข่ายต่อต้านความรุนแรงฯ เข้าชื่อผู้ริเริ่มเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวภาคประชาชน ชี้กฎหมายต้องเอาผิดผู้กระทำจริงจัง หยุดลอยนวล และคุ้มครองเยียวยาผู้เสียหายรอบด้าน จึงจะหยุดความรุนแรงในครอบครัวได้ เตรียมล่า 20,000 รายชื่อหนุน

สมาชิกเครือข่ายต่อต้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศประเทศไทย ประกอบด้วยองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ จำนวน 10 องค์กร เข้ายื่นเรื่องริเริ่มเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ฉบับภาคประชาชนต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีผู้แทนจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนพรรคเพื่อไทยในฐานะฝ่ายรัฐบาล พรรคประชาชนในฐานะพรรคฝ่ายค้าน และนางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์...

เครือข่ายภาคประชาสังคม 100 องค์กร บุกรัฐสภา เรียกร้องรัฐสภา ฝ่ายค้าน ยับยั้งกฎหมายกาสิโน

นายธนากร  คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน พร้อมด้วย ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคม 100 องค์กร ยื่นหนังสือถึง ประธานรัฐสภาและผู้นำฝ่ายค้าน เพื่อคัดค้านการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ที่รัฐสภา กรุงเทพฯ...

เปิดผลศึกษาชุมชน พบวัยรุ่นสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพียบ ถึงร้อยละ 38 เกินครึ่งรู้แหล่งซื้อในชุมชน ด้านหนุ่มไรเดอร์ เปิดใจ เคยเอาควันบุหรี่ไฟฟ้าไปทำร้ายคนที่บ้านช่วงสงกรานต์ เพราะคิดว่ามันไม่อันตราย สูบบุหรี่ไฟฟ้ามา 3 ปี เกือบเอาชีวิตไม่รอด ติดเชื้อในกระแสเลือด วอนหยุดเลิกสูบก่อนสายเกินไป “ดร.ลักขณา” ห่วงเด็กหญิงไทยสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น 8 เท่า เลิกยาก เสี่ยงตอนตั้งท้องทารกตายในครรภ์ พร้อมเผยสารอันตรายเพียบ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ครอบครัวปลอดบุหรี่ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) เครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยง มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กลุ่มไม้ขีดไฟ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ “บุหรี่ไฟฟ้ามันร้าย” พร้อมเสวนา...