เดลินิวส์ ได้จัดงานเสวนา เดลินิวส์ ทอล์ก 2024 เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี หัวข้อ เช็กความพร้อมยานยนต์ไทย สู่…ท็อปเทนโลก อย่างยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธานเปีดงานและกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ ยานยนต์ไทย สู่…ท็อปเทนโลก” พร้อมทั้งมีงานเสวนาหัวข้อ “อนาคตรถสันดาป-รถอีวี ไปทางไหน?” จากนายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยานต์ไทย (ทีเอไอเอ) นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นจี เซลส์ ร่วมเสวนา โดยมีนายปารเมศ เหตระกูล และนางสิริวรรณ พันธุ์ปรีชากิจ กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ นายนต รุจิรวงศ์ เลขานุการกรรมการบริหารคณะกรรมการบริหาร และนายนนท์ รุจิรวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและจัดจำหน่าย พร้อมด้วยผู้บริหารเดลินิวส์ให้การต้อนรับ
นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ เปิดเผยว่า ในโอกาสที่เดลินิวส์จะครบรอบ 60 ปี ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ เดลินิวส์ได้จัดกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ในหลายรูปแบบ รวมถึงวันนี้ได้เสวนาเดลินิวส์ ทอล์ก 2024 หัวข้อ ยุทธศาสตร์ยานยนต์ไทย สู่…ท็อปเทนโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมอง ระหว่างฝ่ายนโยบาย และภาคเอกชนถึงทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตฯขนาดใหญ่มีผลต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจไทย ให้เกิดการปรับตัวรับมือกระแสเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนแปลง ให้สามารถรักษาการเป็นศูนย์กลางยานยนต์ได้ต่อไปในอนาคต
นอกจากเวทีเสวนานี้แล้ว ในปีนี้ เดลินิวส์จะมีการจัดเสวนาอีก 5 เวที ทั้ง ด้าน Sustainable เรื่อง Action for change ทำเดี๋ยวนี้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 1 เมษายน 2567 นี้ เวทีเสวนา เรื่องอสังหาฯ ยังติดกับดัก!! รอวันรัฐบาลสนับสนุน, เวทีเสวนา เรื่องจับเข็มทิศอุตสาหกรรมไทยไปทางไหน?, เวทีเสวนา ใช้ชีวิตง่ายๆ แบบรักษ์โลก และเวทีเสวนา เรื่อง พลิกโฉม ท่องเที่ยวไทยจะไม่เหมือนเดิม อีกด้วย
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ยานยนต์ไทย สู่…ท็อปเทนโลก” ว่า ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะรักษาการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ทั้งรถยนต์สันดานและรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคนี้ต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มมีการวางรากฐานการดึงดูดการลงทุน และส่งเสริมการผลิตรถยนต์อีวีมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว เช่น มาตรการสิทธิประโยชน์อีวี 3.0 ด้วยการลดภาษี ให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ซื้อ และมาในรัฐบาลชุดนี้ก็มีการสานต่อเป็นนโยบายอีวี 3.5 รวมถึงการได้สิทธิ ส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ จึงมั่นใจว่าในด้านสิทธิประโยชน์ประเทศไทยเป็นรองใครในโลกแน่
อย่างไรก็ตาม นอกจากสิทธิประโยชน์แล้ว รัฐบาลกำลังดูแลและส่งเสริมระบบนิเวศในด้านอื่นๆเพื่อส่งเสริมผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม ควบคู่กับการดูแลอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปที่เป็นฐานผลิตสำคัญของไทยควบคู่กันไปด้วย ล่าสุดได้มีการหารือกับนายเศรษฐาทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถึงแนวทางการส่งเสริมและการบริหารจัดการแบตเตอรี่ภายในประเทศ ซึ่งเบื้องต้นจะให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนเอกชน ให้เข้ามาบริหารจัดการแบตเตอรี่ทั้งการผลิตและรีไซเคิลอยู่ในเขตพื้นที่อีอีซีโดยตรงเพื่อให้มีการดูแลอย่างครบวงจร และไม่กระทบต่อชุมชน นอกจากนี้ยัง มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าต่างๆเพิ่มขึ้น
ส่วนการดูแลรถยนต์สันดาปกำลังหาวิธีจัดการดูแลซารถเก่าให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนยังเข้าไปส่งเสริมการปรับตัวของเอสเอ็มอีที่เป็นซัพพลายเชนรถยนต์รุ่นเก่าให้ปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ด้วยการเติมความรู้คู่ทุน รวมถึงการร่วมมือกับกระทรวง อว.ดูการพัฒนาเรื่องแรงงานและหลักสูตรการเรียนการสอนให้อัพเดททันสมัยกับการเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ที่เปลี่ยนไป
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย -คนที่ 3 จากซ้าย
นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด -คนที่ 4 จากซ้าย
ด้านเวทีเสวนาหัวข้อ “อนาคตรถสันดาป-รถอีวี ไปทางไหน?” นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยานต์ไทย (ทีเอไอเอ) กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 10 ของโลก และเป็นที่หนึ่งในภูมิภาค ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะผลิตรถยนต์ได้ 1.9 ล้านคัน เพิ่มจากปีก่อนที่ผลิตได้ 1.8 ล้านคัน ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกต่างประเทศ 1.15 ล้านคัน และขายในประเทศ 7.5 แสนคัน และใน ยอดการผลิตที่เพิ่มขึ้นจะมาจากรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่งตั้งโรงงานประมาณ 40,000 คัน สำหรับสิ่งที่จะฝากถึงนายกรัฐมนตรี คือ อยากให้เพิ่มตลาดส่งออกไปต่างประเทศ ให้มากขึ้น
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า ภาครัฐต้องย้อนกลับมาดูว่าเราเตรียมพร้อมด้านบุคลากร และแรงงานพอรึยัง ตั้งแต่การเตรียมนักศึกษา เพราะเมื่อเห็นทิศทางตลาดแรงงานในอนาคตชัดเจนแล้วว่า หลังจากนี้จะมีปริมาณการจ้างงานเพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มรถบรรทุก ระบบอัตโนมัติ จึงต้องมีความพร้อมไปสู่โรงงานด้านเทคโนโลยีที่ควรจะต้องปรับให้ชัดเจนว่าอนาคตเราจะไปแบบไหน จึงอยากแนะนำรัฐบาลให้ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนระหว่างภาคการศึกษาและเอกชนให้ตรงกัน พร้อมกับสนับสนุนให้เกิดการลงทุนร่วมทางการค้า ต่อยอดจากรถยนต์ไฟฟ้าไปสู่รถจักรยานยนต์ รถบรรทุก ระบบราง ซึ่งอาจตั้งกฎระเบียบการตั้งบริษัทในไทยที่ต้องการการถือครองต่างชาติ 100% หรือการเกิดนอมินีขึ้น
นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เชื่อว่าผู้ประกอบการไทยมีความแข็งแรงมากพอ จึงอยากให้รัฐบาลช่วยผลักดันแขนขาของประเทศเพิ่มขึ้นด้วยการให้รัฐวิสาหกิจของไทยเป็นตัวชูโรงสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่เพื่อใช้ในประเทศเอง เพราะมองว่าเรื่องการผลิตรถอีวีทำได้ไม่ยาก แต่ยังขาดในเรื่องของการส่งเสริมการผลิตแบตฯ ที่ขณะนี้ยังเป็นสินค้าต้องห้ามฉะนั้นทิศทางหลังจากนี้จึงอยากให้พิจารณาตั้งไทยเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ให้ทันกับความต้องการตลาด พร้อมกับคิดค้นว่านำแบตเตอรีจากการรีไซเคิลไปใช้ประโยชน์อย่างไร