กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. สำนักงานเขตหลักสี่ สำนักงานเขตบึงกุ่ม สน.ทุ่งสองห้อง สน.บึงกุ่ม สน.โคกคราม และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมรณรงค์ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” โดยมีการเปิดตัวพื้นที่นำร่องตั้งด่านหวังดี เพื่อประชาสัมพันธ์ ป้องปรามการดื่มแล้วขับ แวะพักทำกิจกรรม เป็นการทำงานเพื่อเสริมด่านหลักของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยภายในงานมีการปล่อยขบวนรถสามล้อรณรงค์ และมีการสาธิตการชงชาว่านรางจืด เพื่อช่วยลดพิษสุราลดอาการมึนเมาด้วย
นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ด้วยความห่วงใยต่อปัญหาอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ท่านชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร ทางกรุงเทพมหานครจึงร่วมมือกับสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และหน่วยงานภาคีเครือข่ายในการนำร่องตั้งด่านชุมชน ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นด่านหวังดี โดยจะเป็นครั้งแรกของกรุงเทพมหานครที่ดำเนินการในเรื่องนี้ มีพื้นที่นำร่อง ในสองเขต คือ หลักสี่ และบึงกุ่ม พื้นที่ละ 10 จุด และยังมีด่านหวังดีกระจายไปตามชุมชนต่าง ๆ อีก 20 จุดดำเนินการโดยเครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งสิ้น 40 จุด ซึ่งทั้งหมดจะเป็นด่านเสริมระดับชุมชน เสริมการทำงานของด่านหลักที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่แล้วในช่วงเทศกาลปีใหม่ ดำเนินการระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2567 – 1 มกราคม 2568 ซึ่งจะเป็นวันที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด เพื่อป้องกันคนเมาในชุมชนขับขี่ยานพาหนะ บนท้องถนน ไม่ขับเร็ว และสวมหมวกนิรภัย เป็นต้น เป็นจุดตรวจเตือน ชักชวนให้แวะพัก ดื่มน้ำชากาแฟ กินข้าวต้ม รวมถึงดื่มชาว่านรางจืด ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้สร่างเมา แบบรักกันเตือนกัน ในจุดนี้จะไม่มีการจับกุมหรือตรวจวัดแอลกอฮอล์แต่อย่างใด คาดหวังว่าด่านหวังดีจะมีส่วนช่วยลดอุบัติเหตุ ลดการเจ็บ ลดตาย ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และยังมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ร้านค้าที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ขายให้คนเมาครองสติไม่ได้ และขายตามเวลาที่กำหนด คือ 11.00 – 14.00 น. และ 17.00 – 24.00 น. อีกด้วย
“การนำพืชสมุนไพรว่านรางจืดมาชงเป็นชาเพื่อลดอาการมึนเมา ถอนพิษสุรา ถือเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ได้มาจากภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยของชุมชนในเขตบึงกุ่ม และจะมีการนำสมุนไพรตัวนี้มาใช้ในแต่ละจุดด้วย และคาดว่าหลังจากการดำเนินงานด่านหวังดีในช่วงปีใหม่นี้ จะมีการถอดบทเรียนการทำงาน เพื่อหาจุดอ่อนจุดแข็งที่ต้องปรับปรุงแก้ไข นำไปสู่การวางแผนขยายผลในช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ ต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดอุบัติเหตุ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้ได้มากที่สุด ดังนั้น การลุกขึ้นมาเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ เข้ามีส่วนร่วมกับการป้องกันแก้ไขปัญหาของชุมชนจึงเป็นหัวใจสำคัญยิ่ง” นายแพทย์สุนทร กล่าว
ด้านนางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรไทย พบว่าอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยมีแนวโน้มลดลง เหลือเพียงร้อยละ 28.0 แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังคงเป็นสาเหตุสำคัญที่สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะ “การดื่มแล้วขับ” ที่ยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จากข้อมูลการบาดเจ็บและเสียชีวิตช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 พบว่าการดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนน โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากกรณี “ดื่มแล้วขับ” ในทุกกลุ่มอายุร้อยละ 34.05 และอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 16.75 สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุดื่มแล้วขับช่วง 7 วันอันตราย ในพื้นที่กรุงเทพมหานครปีที่ผ่านมาพบว่า มีคดีเมาแล้วขับสูงถึง 469 คดี มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงถึง 19 ราย
“ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สสส. มูลนิธิเด็กยาวชนและครอบครัว เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดตั้ง ด่านหวังดี เป็นการตั้งจุดเพื่อเตรียมเชิญชวนให้เป็นจุดแวะพักเตือนสติ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” ไม่ขับเร็ว และสวมหมวกนิรภัย ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 เป็นทำงานเชิงบวก แต่จะมีการเชื่อมโยงการทำงานกับด่านใหญ่ของตำรวจด้วย ในกรณีพบเหตุไม่พึงประสงค์ และยังมีการทำงานเชิงรุก ในการเข้าไปพูดคุยขอความร่วมมือกับร้านค้า ผู้ประกอบการที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เน้นย้ำให้ปฏิบัติตตามกฎหมาย ทั้งนี้ทางเครือข่ายฯ มีการผลิตสื่อรณรงค์แจกในชุมชนและผลิตสปอตรณรงค์ช่วยประชาสัมพันธ์ด้วย นอกจากนี้ ทาง สสส. ได้ผลิตคลิปวิดีโอสปอตรณรงค์ช่วงเทศกาลปีใหม่ เรื่อง “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” และ “ดื่มแล้วขับอาจเป็นฆาตกร” ออกอากาศผ่านสื่อสาธารณะหลายรูปแบบ เพื่อย้ำว่าการเดินทางบนท้องถนนถ้าหากคนขับละสายตา ขาดสมาธิ จากการขับขี่ลงในระดับวินาที หรือดื่มแล้วขับก็สามารถเปลี่ยนคนดีๆ ให้เป็นผู้ที่ประมาทกลายเป็นฆาตกรได้ จึงอยากชวนทุกคนยึดไว้ให้มั่นว่า “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” สสส. หวังว่าเราจะผ่านช่วงเวลาสำคัญในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 นี้โดยมีจำนวนอุบัติเหตุ ลดลง หรือไม่มากไปกว่านี้” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว