นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า ตามที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมรักษ์ คำสิงห์ จำเลยที่ 1 และ นายพิเชษฐ์ ชิเนหันทา เพื่อนสนิทนายสมรักษ์ จำเลยที่ 2 ในข้อหาร่วมกันพรากผู้เยาว์ กรณีกระทำอนาจารและล่วงละเมิดทางเพศ เด็กสาววัย 17 ปี ที่รู้จักกันในสถานบันเทิง เมื่อเดือน ธ.ค.2566 โดยสั่งให้จำคุกนายสมรักษ์ เป็นเวลา 2 ปี 13 เดือน 10วัน และให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ญาติ 50,000 บาท และผู้เสียหาย 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่กระทำละเมิด ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง ต่อมาศาลจังหวัดขอนแก่น มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 ระหว่างอุทธรณ์คดี โดยตีราคาประกัน 400,000 บาทนั้น เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 ซึ่งถือเป็นชั้นต้นของการคืนความยุติธรรมให้กับเด็กที่เป็นเหยื่อและครอบครัว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตนเป็นห่วง และกังวล คือพบว่ามีสื่อมวลชนบางสำนักมีการสำเสนอข่าวดังกล่าวโดยลงรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์มากเกินจำเป็น ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ อาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้เสียหายและครอบครัว
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เด็กผู้เสียหายและครอบครัวถูกกระทำ ถูกตัดสินจากโลกโซเชียลอย่างรุนแรง วันนี้คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด แต่อย่างน้อยในชั้นต้นก็ได้คืนความยุติธรรม และเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ไม่ควรมีผู้ใหญ่คนใดฉวยโอกาสล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กทุกกรณี เด็กทุกคนต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองจากรัฐอย่างเข้มแข็ง จึงฝากไปถึงสื่อมวลชนให้ช่วยระมัดระวังการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ซึ่งเสี่ยงต่อการผิด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และอาจขัดต่อประมวลจริยธรรมสื่ออีกด้วย” นายชูวิทย์ กล่าว
นายชูวิทย์ กล่าวว่า สำหรับที่มาที่ไปของเรื่องนี้ เป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 10 ธันวาคม 2566 ผู้ต้องหาทั้งสองได้ไปใช้บริการสุขสันต์ผับ และพาผู้เยาว์ ไปที่โรงแรมมันตราวารี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม 2566 พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อนายสมรักษ์ คำสิงห์ ผู้ต้องหาที่ 1 และ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ นายพิเชษฐ์ ชินเนหันหา ผู้ต้องหาที่ 2 ซึ่งในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาทั้ง 2 ให้การปฏิเสธ คดีมีมูล กระทั่งผู้เสียหายและครอบครัว ได้ขอความช่วยเหลือไปยังบ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดขอนแก่น ให้ช่วยประสาน ขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว ให้เข้าช่วยเหลือทางคดี เพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับความยุติธรรมเนื่องจากผู้ต้องหาเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและยังเคยเป็นนักการเมืองด้วย
ทั้งนี้ มูลนิธิเด็กเยาวชนฯ ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้เสียหาย และครอบครัว พร้อมแต่งตั้งทนายความของมูลนิธิฯ เป็นโจทก์ร่วม ให้แก่ผู้เสียหายและครอบครัว ร่วมกับพนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น พันตำรวจโทวัฒนพงษ์ จันทระ โจทก์และทนายความของมูลนิธิเด็กเยาวชน และครอบครัว โจทก์ร่วม ได้ยื่นฟ้องต่อศาล จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 คดีหมายเลขดำที่ อ.694/2567 คดีนี้ศาลจังหวัดขอนแก่น ได้สืบพยานฝ่ายโจทก์และพยานฝ่ายจำเลยเสร็จสิ้นแล้วจึงนัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568