Hotline 083-411-9393
Monday , 24 February 2025
Home News มาสด้าปักหมุดประเทศไทยทุ่มลงทุนกว่า 5,000 ล้าน สร้างฐานการผลิต xEVs เตรียมผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าคอมแพ็คเอสยูวี 100,000 คันต่อปี พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืนด้วย Customer Centric
News

มาสด้าปักหมุดประเทศไทยทุ่มลงทุนกว่า 5,000 ล้าน สร้างฐานการผลิต xEVs เตรียมผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าคอมแพ็คเอสยูวี 100,000 คันต่อปี พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืนด้วย Customer Centric

มาสด้าประกาศแนวทางการดำเนินธุรกิจครั้งประวัติศาสตร์ขึ้นในประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ดีลเลอร์ และพันธมิตรทางธุรกิจ นำทัพโดย มร. มาซาฮิโร โมโร ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ  มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น พร้อมด้วย นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย ถ่ายทอดวิสัยทัศน์ครั้งสำคัญสุดในรอบทศวรรษ เพื่อเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อการก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืน ภายใต้ธีม The Future, Crafted by the Joy of Driving ชูวิสัยทัศน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยียานยนต์ใหม่ล่าสุด เพื่อส่งมอบความสุขในการขับขี่ตามแนวทาง Multi-solution ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าควบคู่กับแผนเปิดตัวรถยนต์ใหม่ 5 รุ่น ภายใน 3 ปี เชื่อมั่นระบบเศรษฐกิจและศักยภาพของประเทศไทยประกาศทุ่มเงินลงทุนอีกกว่า 5,000 ล้านบาท ผลักดันโรงงานผลิตรถยนต์ในไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตและพัฒนารถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหลากหลายรูปแบบ หรือ xEVs นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านไปยังรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบในอนาคต โดยทำการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าคอมแพ็ค  เอสยูวี 100,000 คันต่อปี เพื่อจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก

มร. มาซาฮิโร โมโร ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์รอบด้านจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่มาสด้ายังคงยึดมั่นในแนวทางที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง นั่นคือ การพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพสูง เพื่อมอบความสุขในการขับขี่และการใช้ชีวิตทุกด้านให้กับลูกค้าทุกคน เพราะมาสด้าเป็นแบรนด์ที่ถือกำเนิดขึ้นจากเมืองฮิโรชิมาซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ เราจึงต้องการมอบความสุข สร้างรอยยิ้ม และช่วยยกระดับความเป็นอยู่ให้กับผู้คนในสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการดำเนินธุรกิจของเรา แม้ว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคของพลังงานไฟฟ้าก็ตาม

  • ภาพรวมมาสด้าทั่วโลกเพื่อก้าวสู่ยุคพลังงานไฟฟ้า ด้วยแนวทาง Multi-solution และ Intentional Follower

ภาพรวมของมาสด้าทั่วโลก เป้าหมายของเราคือการนำเสนอรถยนต์ที่มาพร้อมพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2573 รวมถึงรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในที่มาพร้อมพลังงานไฟฟ้า มาสด้าคาดว่ายอดจำหน่ายของรถ BEVs อยู่ที่ประมาณ 25-40% ของยอดจำหน่ายทั่วโลก ซึ่งมาสด้ากำลังเดินหน้าตามแนวทาง Multi-Solution Strategy เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ควบคู่กับการใช้แนวทาง Intentional Follower Approach โดยทำการศึกษาตลาดอย่างใกล้ชิดและรับฟังข้อคิดเห็นจากลูกค้า เพื่อให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าให้ดีที่สุด คาดว่าภายในปี พ.ศ. 2573 มาสด้าจะมียอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นองค์ประกอบในการขับเคลื่อน 100% ของยอดจำหน่ายรวมทั้งหมด แต่ในระหว่างนี้ เรากำลังเดินหน้าตามแผนพัฒนา xEVs ประกอบด้วยแผนกลยุทธ์ 3 เฟส ประกอบด้วย เฟสที่ 1 เป็นการเตรียมความพร้อม เฟสที่ 2 การเปลี่ยนผ่านอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจาก HEV, PHEV และ BEV จนถึงเฟสที่ 3 เป็นการแนะนำรถไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ

มาสด้าพร้อมเดินหน้าส่งมอบเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ตามแนวทาง Multi-solution ซึ่งรวมถึง MHEVs, HEVs, PHEVs, BEVs, R-EVs และรถยนต์ที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและตรงกับความต้องการมากที่สุด เราเชื่อว่าแนวทางนี้จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุด

  • แผนกลยุทธ์การนำเสนอผลิตภัณฑ์เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในไทย

สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นตลาดหลักที่สำคัญอันดับต้น ๆ มาสด้าตระหนักถึงกระแสตอบรับที่ดีและความต้องการรถไฟฟ้าที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มาสด้าจึงเร่งแผนในการนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าให้เร็วขึ้น เพื่อตอบสนองกับความต้องการของลูกค้า โดยวางแผนในการแนะนำรถไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นไปตามกลยุทธ์ 3 เฟส เช่นเดียวกัน ซึ่งเฟส 2 จะเป็นการนำเสนอรถพลังงานไฟฟ้าในไทย โดยมาสด้าจะทำการเปิดตัวแนะนำเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ทั้ง BEV, PHEV, HEV ระหว่างปี พ.ศ. 2568 – 2570 โดยเริ่มจากการเปิดตัวแนะนำรถยนต์ไฟฟ้า BEV รุ่น Mazda6e ในปีนี้ ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างมาสด้าและพาร์ทเนอร์ในประเทศจีน

  • สร้างไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์พลังงานไฟฟ้า คอมแพ็คเอสยูวี ตั้งเป้าการผลิต 100,000 คันต่อปี

มร. มาซาฮิโร โมโร ประธานกรรมการบริหาร & ซีอีโอ มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงแผนธุรกิจว่า มาสด้าในประเทศไทยมีประวัติศาสตร์อันยาวนานมากกว่า 70 ปี ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ มาสด้า เซลส์ และผู้จำหน่ายมาสด้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโรงงานผลิตรถยนต์ที่จังหวัดระยอง AutoAlliance (AAT) ที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ทำการผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ รวมทั้ง โรงงานผลิตเครื่องยนต์และเกียร์อัตโนมัติ Mazda Powertrain Manufacturing Thailand (MPMT) ที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2558 ทั้งสองโรงงานนี้คือรากฐานสำคัญที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์มาสด้าและชิ้นส่วน เพื่อจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกยังตลาดต่างประเทศทั่วโลก วันนี้ มาสด้าได้เตรียมความพร้อมไปอีกขั้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สำคัญในการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้า xEVs ด้วยการเพิ่มเงินลงทุนเป็นจำนวนกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าคอมแพ็คเอสยูวี โดยมุ่งเน้นไปที่การประกอบรถยนต์ การผลิตเครื่องยนต์ เกียร์ และแบตเตอรี่ พร้อมวางเป้ากำลังการผลิตอยู่ที่ 100,000 คันต่อปี นี่คือจุดเริ่มต้นและก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ต่อการลงทุนเพิ่มเติมสำหรับประเทศไทยเพื่อผลิตรถพลังงานไฟฟ้าของมาสด้าและเป็นก้าวสำคัญสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

ไม่เพียงเท่านี้  มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น พร้อมนำเสนอเทคโนโลยีอันล้ำสมัยที่สุด รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการประกอบรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามายังประเทศไทย ควบคู่กับการพัฒนาทักษะช่างฝีมือประกอบรถยนต์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ารถยนต์ที่ผลิตจากโรงงานในประเทศไทยจะเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับมาสด้าทั่วโลก และพร้อมสำหรับการเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า xEVs ในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป

นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ประธานกรรมการบริหาร & ซีอีโอ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเกี่ยวกับทิศทางและแผนการดำเนินธุรกิจมาสด้าในประเทศไทยว่า สำหรับประเทศไทยนั้น มาสด้ามุ่งมั่นที่จะปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อเดินหน้าสู่ความสำเร็จไปพร้อมกันทั้งองค์กร ตามแนวทาง Management Policy ประกอบด้วย ผู้จำหน่าย พนักงาน และที่สำคัญสูงสุด คือ ลูกค้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ (Customer-Centric) สำหรับการเปลี่ยนแปลงของมาสด้าที่กำลังจะเกิดขึ้น แบ่งออกเป็น 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่

กลยุทธ์ที่ 1: การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรด้วย “ผู้คน”

  • สร้างการเปลี่ยนแปลงองค์กร โดยมีเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่ Agile และ Insight-Driven คล่องตัว ยืดหยุ่น และขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูลเชิงลึก ในปัจจุบัน กลุ่มมิลเลนเนียล หรือ Gen-Y มีประมาณ 70% ของพนักงานทั้งหมด กลุ่มคนเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี มีการศึกษาสูง ปรับตัวได้ดี มีเป้าหมายชัดเจน มีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถทำงานหลายอย่างพร้อมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเราจะใช้จุดแข็งและพลังของกลุ่มมิลเลนเนียลผสานการทำงานร่วมกับ Gen-X และ Gen-Z เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้า
  • สนับสนุนการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ด้วยโปรแกรม “Career@Mazda” ที่ออกแบบมาเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมของพนักงานทั้งที่ มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย และผู้จำหน่าย เพื่อพัฒนาทักษะ และส่งเสริมการสร้างความผูกพันของพนักงานกับแบรนด์และเพื่อนร่วมงาน
  • สร้างโปรแกรม “Mazda Signature Services” ซึ่งเป็นโปรแกรมที่อยู่บนพื้นฐานของการส่งมอบคุณค่าอันมีเอกลักษณ์เฉพาะของมาสด้า 3 ประการ ได้แก่—“Radically Human,” การให้ความสำคัญกับมนุษย์ “Challenger Spirit,” สปิริตที่ไม่ย่อท้อ และ “Omotenashi” ให้การดูแลเช่นเดียวกับคนในครอบครัว เพื่อให้มั่นใจว่าคุณค่าของแบรนด์จะถูกถ่ายทอดไปยังลูกค้าในทุก ๆ touchpoint ของการบริการ

กลยุทธ์ที่ 2: ยกระดับการบริการและการสื่อสารกับลูกค้าด้วยข้อมูลเชิงลึก

ทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างลึกซึ้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ และสื่อสารกับลูกค้าด้วยข้อมูลเชิงลึก ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์ม VOF หรือ “Voice of Fans” เพื่อช่วยวิเคราะห์ความคิดเห็นของลูกค้าแบบเรียลไทม์ พร้อมนำความคิดเห็นมาจัดเก็บเป็นข้อมูล วิเคราะห์ และตอบกลับอย่างทันท่วงที ทั้งในช่องทาง Digital และผ่านพนักงาน เพื่อปรับปรุงการบริการและสร้างความพึงพอใจสูงสุด

นอกจากนี้ มาสด้ากำลังสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง รวมถึงคลังข้อมูลที่สามารถให้ข้อมูลลูกค้าอย่างครบถ้วน อาทิ การสร้างระบบ Data Warehouse และการบริหารจัดการข้อมูลลูกค้าแบบ SCV (Single Customer View) 360 องศา รวมถึงการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ Social Listening เพื่อรับข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์ นำมาออกแบบ พัฒนา และปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้า เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่นำเสนอนั้นตรงกับความต้องการและความรู้สึกของลูกค้าอย่างแท้จริง

กลยุทธ์ที่ 3: การสร้างประสบการณ์ลูกค้าแบบไร้รอยต่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์

ด้านออนไลน์: มีการพัฒนาเว็บไซต์องค์กรใหม่ โดยเปลี่ยนให้เป็น Mazda NEXTperience Hub ซึ่งแพลตฟอร์มนี้ได้รับการออกแบบเพื่อให้เกิดความสะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีในการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์ ผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยี รวมถึงข่าวสารและการให้บริการต่าง ๆ ไม่ว่าลูกค้าต้องการลงทะเบียนจองคิวรถเพื่อทดลองขับ หรือนัดหมายเพื่อนำรถเข้าศูนย์บริการ ซึ่งจะช่วยให้การมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์เป็นไปอย่างราบรื่นขึ้น ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และไร้รอยต่อ

นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนาแพลตฟอร์ม “Mazda SkyJourney” ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการมาตรฐานที่ผู้จำหน่ายมาสด้าทุกแห่งใช้ในการดำเนินงาน ระบบนี้ถูกการออกแบบมาเพื่อให้กระบวนการทำงานเป็นไปอย่างแม่นยำและมีมาตรฐานสูง เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ราบรื่นและสะดวกสบายในทุกขั้นตอน

ด้านออฟไลน์: มีการนำ “Mazda BASICS” แนวทางใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อเป็นต้นแบบการดำเนินธุรกิจของผู้จำหน่าย โดยมีพื้นฐานมาจากปรัชญาและคุณค่าของแบรนด์ ซึ่งเกิดจากแนวทางที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และสปิริตของ Omotenashi หรือปรัชญาด้านการบริการแบบญี่ปุ่น คุณค่าเหล่านี้จะถ่ายทอดผ่านการพัฒนาบุคลากร และการดำเนินงานของผู้จำหน่ายทั่วประเทศ

นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินงานของมาสด้าในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับแผนพัฒนาธุรกิจในอนาคต มาสด้ามีแนวทางในการดำเนินงานด้านอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ 

  • ด้านการปรับโครงสร้างและพัฒนาเครือข่ายผู้จำหน่าย

ปัจจุบัน ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มาสด้ามีผู้จำหน่ายทั้งหมด 19 โชว์รูม สามารถรองรับลูกค้าที่มาเข้ารับการบริการได้ถึง 250,000 รายต่อปี หรือมากกว่า 20,000 คันต่อปี ซึ่งเพียงพอกับลูกค้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน  ในส่วนต่างจังหวัด มาสด้ากำลังเพิ่มศักยภาพของผู้จำหน่ายที่มีอยู่ทั้งหมด 65 แห่ง ให้พร้อมรองรับต่อความต้องการของลูกค้าที่จะเข้ามารับบริการ ด้วยกลยุทธ์ PMA ใหม่ ที่กำหนดขอบเขตให้ผู้จำหน่ายที่มีศักยภาพสูงมีพื้นที่ในการดูแลลูกค้าเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน สามารถรองรับปริมาณงานซ่อมได้สูงสุด 450,000 คันต่อปี หรือมากกว่า 37,000 คันต่อเดือน สำหรับภาพรวมทั่วประเทศ ปัจจุบันเรามีลูกค้า 250,000 คัน ที่อยู่ในระบบของเรา ซึ่งเครือข่ายผู้จำหน่ายของเราทั้งหมด 84 โชว์รูม สามารถส่งมอบการบริการที่ดีที่สุดได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ เรายังนำ Mazda BASICS มาใช้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานของผู้จำหน่ายทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ผู้จำหน่ายสามารถส่งมอบงานด้านการขายและการบริการที่มีมาตรฐานสูงสุดได้

  • กลยุทธ์ด้านการสร้างแบรนด์

มาสด้าในประเทศไทยมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานถึง 70 ปี เรามีพันธกิจสำคัญคือการยกระดับประสบการณ์และการใช้ชีวิตในทุกด้านให้กับลูกค้าทุกคน เพราะเราเชื่อว่า “ความสุขในการขับขี่รถยนต์” นำมาซึ่ง “ความสุขในการใช้ชีวิต” สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การเป็นเจ้าของรถยนต์มาสด้า เพราะความสุขไม่ได้หมายถึงแค่เพียงการมีรอยยิ้ม แต่คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากภายใน คือความหมายและการเติมเต็มการใช้ชีวิต สะท้อนการสร้างคุณค่าทางอารมณ์ความรู้สึก มีต้นกำเนิดจากความเข้าใจพื้นฐานของมนุษย์ และได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “Omotenashi” หรือปรัชญาแนวคิดการบริการแบบญี่ปุ่น

หลังจากนี้ มาสด้าจะผลักดันธุรกิจด้วยการนำเสนอปรัชญาใหม่ของแบรนด์ นั่นคือ “Joy Drives Lives” หรือ ความสุขที่ขับเคลื่อนชีวิต เพื่อนำมาใช้ในการปรับเปลี่ยนประสบการณ์ลูกค้า และสร้าง Customer Journey รูปแบบใหม่ และพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าในทุก ๆ ขั้นตอน รวมถึงการเริ่มต้นปรับรูปแบบธุรกิจในประเทศไทย (Business Transformation) โดยมุ่งให้ความสำคัญกับลูกค้าในทุกสิ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าทุกครั้งที่ลูกค้ามีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์มาสด้าจะนำมาซึ่งคุณค่าและความสุขของการเป็นเจ้าของรถมาสด้า

  • กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีในไทย

มาสด้ากำลังเดินหน้าตามแผนกลยุทธ์ Multi-solution โดยจะทำการเปิดตัวรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหลากหลายรูปแบบ ถึง 5 รุ่น ระหว่างปี พ.ศ. 2568 – 2570 เพื่อสามารถตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า รวมถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้า BEV 2 รุ่น รถ PHEV 1 รุ่น และรถ HEV 2 รุ่น โดยรุ่นแรกที่ลูกค้าได้สัมผัสในเร็ว ๆ นี้ คือ รถยนต์ไฟฟ้า BEV รุ่น Mazda6e

  • กลยุทธ์ด้านการผลิต

มาสด้ายังคงเดินหน้าผลักดันการผลิตที่โรงงานในประเทศไทย ทั้งที่โรงงาน AAT และ MPMT เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากโรงงานทั้งสองแห่ง และสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางในการผลิตและจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าคอมแพ็คเอสยูวี ทั้งการจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศทั่วโลก โดยโรงงานผลิตทั้งสองแห่งมีคุณภาพมาตรฐานเทียบเท่าระดับโลก นี่คือรากฐานที่มั่นคงที่จะช่วยเสริมสร้างให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน และเป็นศูนย์กลางที่สำคัญในการผลิตรถ xEVs ในอนาคต

ทั้งหมดนี้ คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับมาสด้าทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดประเทศไทย ที่ทางมาสด้าออกมาประกาศเดินหน้าเต็มขุมกำลัง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางแห่งสำคัญสุดของมาสด้าในการผลิตและส่งออก เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งพนักงาน ผู้จำหน่าย โดยเฉพาะลูกค้าชาวไทย เพราะลูกค้าคือหัวใจสำคัญที่สุดของการดำเนินธุรกิจของมาสด้า ดังนั้น เราจึงมุ่งมั่นที่จะส่งมอบคุณค่าและประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าของเรา ซึ่งเราจะดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและมั่นคงกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งมอบประสบการณ์ความสุขและการใช้ชีวิต เพื่อให้แบรนด์มาสด้าเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคงไปพร้อม ๆ กับการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ” นายธีร์ กล่าว

Recent Posts

Categories

Related Articles

เติมบางจากทุก 500 บาท รับฟรีน้ำดื่มขวดใหญ่ 1.5 ลิตรพิเศษ สมาชิกฯ รับเพิ่มแลกซื้อเครื่องดื่มอินทนิลเพียงครึ่งราคา

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดสมนาคุณลูกค้าต้อนรับหน้าร้อน “เติมฉ่ำ ซัมเมอร์” เมื่อเติมน้ำมันบางจากทุกชนิด ทั้งกลุ่มแก๊สโซฮอล์และดีเซล ครบทุก 500...

5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์

ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ พัฒนาขึ้นเพื่อพร้อมตะลุยทะเลทราย พิชิตภูเขาสูงชัน และการขับขี่ในทุกสภาพเส้นทางหฤโหด สร้างมาตรฐานที่เหนือชั้นในตลาดรถกระบะออฟโรดสมรรถนะสูงเพื่อคอออฟโรดตัวจริง และนี่คือ เกร็ดน่ารู้ 5 ข้อ กับอีก...

บางจากฯ จับมือ สปสช. เปิด ‘คลินิกปันรักษ์’ ให้บริการสุขภาพพื้นฐาน ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และบริษัท All Healthy จำกัด เปิดคลินิกปันรักษ์ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก...

เบื้องหลังการตรวจสอบคุณภาพฟอร์ด เรนเจอร์ สุดเข้มงวดก่อนถึงมือลูกค้า

“การตรวจสอบคุณภาพขั้นสุดท้ายของฟอร์ด เรนเจอร์ และ ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ ทุกคัน ต้องผ่านสายตาอันเฉียบคมและมือที่แม่นยำของผู้ตรวจสอบในแผนกตรวจรับรองคุณภาพก่อนส่งมอบ (Customer Acceptance Line: CAL)”...