เชลล์ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จัดการแข่งขัน “เชลล์แชมเปียนส์ลีก การแข่งขันชิงแชมป์สามช่างยนต์ระดับประเทศ (Shell Mechanic Champions League)” เพื่อยกระดับฝีมือช่างยนต์ไทยให้มีทักษะและมาตรฐานสากล เพิ่มความเชี่ยวชาญในการดูแลเครื่องยนต์อย่างถูกต้องและปลอดภัย ตลอดจนสร้างโอกาสอาชีพที่ยั่งยืน และพัฒนาการให้บริการของอู่ซ่อมรถรายย่อย ตอกย้ำความมุ่งมั่นของเชลล์ในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและมอบความปลอดภัย
ตลอดการเดินทาง
นางสาวอรอุทัย ณ เชียงใหม่ ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ด้วยกลยุทธ์ Powering Progress ของเชลล์ในการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่ธุรกิจพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 ด้วยการส่งมอบโซลูชั่นพลังงานสะอาดมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของทุกคน กว่า 132 ปีของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เชลล์มุ่งมั่นส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ และดูแลเติมความสุขให้คนไทยด้วยผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงมาตรฐานระดับโลกของเชลล์ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ตลอดจนการบริการดูแลรักษาเครื่องยนต์ด้วยผลิตภัณฑ์
น้ำมันเครื่อง ซึ่งมีให้บริการทั่วประเทศด้วยบริการที่มีคุณภาพจากช่างที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อช่วยดูแลรักษาเครื่องยนต์ให้มีความปลอดภัยตลอดการเดินทางทั้งรถยนต์และผู้ร่วมเดินทาง
ด้วยความมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานและพัฒนาศักยภาพของช่างยนต์ไทย เชลล์ร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จัดการแข่งขัน ‘เชลล์แชมเปียนส์ลีก การแข่งขันชิงแชมป์สามช่างยนต์ระดับประเทศ‘ (Shell Mechanic Champions League) เพื่อส่งเสริมทักษะการดูแลและบำรุงรักษาเครื่องยนต์สำหรับมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ และรถบรรทุก โครงการนี้ไม่เพียงเปิดโอกาสให้ช่างทั่วประเทศได้พัฒนาความรู้ความสามารถในด้านการซ่อมเครื่องยนต์ให้เทียบเท่ามาตรฐาน สากลแต่ยังมุ่งหวังที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพอย่างยั่งยืน และเติมเต็มความสุขให้ทุกคน
นายพิเชษฐ์ ทองพันธ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า “กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมุ่งยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานยุคใหม่ โครงการ “เชลล์แชมเปียนส์ลีก การแข่งขันชิงแชมป์สามช่างยนต์ระดับประเทศ” ภายใต้ความร่วมมือกับเชลล์ เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับพันธกิจในการสร้างมาตรฐานความเชี่ยวชาญสำหรับช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และรถบรรทุก โดยมีการกำหนดรูปแบบและหลักเกณฑ์การแข่งขันร่วมกัน โครงการนี้มุ่งยกระดับทักษะช่างยนต์
ให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อให้ช่างสามารถต่อยอดอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง และเพิ่มความปลอดภัยในการให้บริการซ่อมรถแก่ผู้ใช้บริการทั่วไป กรมพัฒนาฝีมือแรงงานพร้อมที่จะขยายความร่วมมือกับภาคเอกชนเช่นเชลล์ในการจัดโครงการที่มีประโยชน์แก่ช่างยนต์และสังคมต่อไปในอนาคต”
เชลล์และกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 ได้จัดการแข่งขัน “เชลล์ ก้าวตามฝันสู่การเป็นช่างระดับโลก” เพื่อค้นหาตัวแทนช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ของประเทศไทย ไปร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ชนะจากประเทศต่าง ๆ ในงาน Shell Advance Masterclass Global Competition ที่จัดขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นการแข่งขันประกอบรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ (Big Bike) โดยทีมตัวแทนจากประเทศไทยได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันครั้งนั้น
ด้านนายกมลพัทธ์ พหลโยธิน กรรมการบริหาร ธุรกิจน้ำมันหล่อลื่น บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “สำหรับธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นเชลล์ เรามุ่งมั่นขับเคลื่อนความก้าวหน้าของโลกในวันนี้ เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดียิ่งขึ้น (We keep the world progress today, for tomorrow) ด้วยการเสนอผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นและบริการคุณภาพสูงมาตรฐานระดับโลก ส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า การพัฒนาทักษะให้กับช่างจะช่วยให้การซ่อมบำรุงเครื่องยนต์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะช่างสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการการใช้งานอย่างแท้จริง เช่น เชลล์ เฮลิกส์ น้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้สำหรับรถยนต์ ที่พัฒนาร่วมกับเฟอร์รารี่ มีเพียวพลัสเทคโนโลยีให้ประสิทธิภาพการปกป้องสูงสุด ช่วยปกป้องเครื่องยนต์ จากการสึกหรอและการทำงานหนัก ประหยัดน้ำมันและลดการปล่อยมลภาวะ
เชลล์ แอ๊ดว้านซ์ น้ำมันเครื่องสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ น้ำมันเครื่องตัวเดียวที่ทางทีมดูคาติเลือกใช้ในการแข่งขันมอเตอร์ไซด์ระดับโลกอย่าง Moto GP ช่วยรักษากำลังเครื่องยนต์และปกป้องเครื่องยนต์ที่อุณหภูมิสูง และเชลล์ ริมูล่า ที่ช่วยปกป้องเครื่องยนต์ได้ดีขึ้น 2 เท่า ลดการสึกหรอ ปกป้องเครื่องยนต์และยืดอายุการใช้งานรถบรรทุกได้ยาวนานขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นในการสนับสนุนความก้าวหน้าในอาชีพช่างยนต์ เชลล์จึงร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาทักษะและคุณภาพชีวิตของช่างให้ดียิ่งขึ้น
การแข่งขันเชลล์แชมเปียนส์ลีกในปีนี้มีช่างผู้เชี่ยวชาญสนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 287 คน แบ่งการแข่งขันออกเป็น 3 สาขา ได้แก่ สาขาอาชีพช่างซ่อมรถยนต์ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ และช่างซ่อมรถบรรทุกขนาดใหญ่ โดยผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกทั้งหมด 3 รอบ ประกอบด้วย
1.การคัดเลือกตัวแทนประจำภูมิภาค ผู้เข้าแข่งขันจะต้องผ่านการทดสอบความรู้ช่างทั่วไป ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้ผ่านเกณฑ์ที่ได้คะแนน 70% ขึ้นไป จะได้รับประกาศนียบัตรรับรอง
จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
2.การคัดเลือกผู้ชนะระดับภูมิภาค ผู้ผ่านเข้ารอบนี้จะต้องเข้ารับการอบรมภาคทฤษฎีและผ่านการทดสอบหลังการอบรม ก่อนที่จะเข้าสู่การแข่งขันภาคปฏิบัติ ซึ่งข้อกำหนดและหลักเกณฑ์การตัดสินในการแข่งขันนี้ เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างเชลล์และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
3.การคัดเลือกผู้ชนะระดับประเทศ การแข่งขันรอบสุดท้ายเป็นการชิงชัยกันระหว่างตัวแทนในระดับภูมิภาค 28 คนจากทั่วประเทศ เข้าร่วมการแข่งขันภาคปฏิบัติเพื่อเก็บคะแนน เพื่อเฟ้นหาสุดยอดแชมป์ช่างยนต์ระดับประเทศ โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 20,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับสอง5,000 บาท
นายชุมพล เสิกภูเขียว อายุ 37 ปี เจ้าของอู่ชุมแพออโต้เซอร์วิส จังหวัดขอนแก่น ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศ ในการแข่งขันประเภท ช่างซ่อมรถยนต์ กล่าวว่า “ผมภูมิใจมากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขาช่างซ่อมรถยนต์ ผมทราบข่าวการแข่งขันจากเฟซบุ๊กของเชลล์ การแข่งขันนี้ทำให้ผมได้รับความรู้ใหม่ ๆ เช่น ขั้นตอนการซ่อมรถยนต์ตามมาตรฐาน และการใช้เครื่องมือพิเศษสำหรับซ่อมชิ้นส่วนที่เครื่องมือทั่วไปถอดประกอบทำไม่ได้ ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับอู่ของเรา และผมยังได้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยมชนิดต่าง ๆ ของเชลล์ด้วย รางวัลนี้ไม่เพียงแต่เพิ่มความมั่นใจให้กับผม แต่ยังสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าว่าอู่ของเรา มีความเชี่ยวชาญ ผมหวังว่าเชลล์จะจัดกิจกรรนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ช่างยนต์ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะและเพิ่มพูนประสบการณ์มากขึ้น”
“ความสำเร็จจากการแข่งขันไม่ใช่เพียงแค่ความภาคภูมิใจของผู้ชนะ แต่ยังเป็นการเปิดประตูสู่เส้นทางอาชีพช่างยนต์ด้วยดีกรีแชมป์จากเชลล์และประกาศนียบัตรรับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งช่วยยกระดับมาตรฐานฝีมือช่างของประเทศไทยให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ยังส่งเสริมความมั่นคงในอาชีพ สร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นเพื่อการดูแลครอบครัว สอดคล้องกับแนวคิด Powering Lives ของเชลล์ ที่ต้องการส่งเสริมการขับขี่ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ด้วยเครื่องยนต์ที่ทำงานอย่างเต็มสมรรถนะ ช่วยยืดอายุการใช้งาน ลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุจากความขัดข้อง และยังส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจเพื่อให้เศรษฐกิจไทยพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับเชลล์ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของประเทศไทยมาอย่างยาวนานกว่า 132 ปี” นางสาวอรอุทัย กล่าวทิ้งท้าย